www.trueplookpanya.com

www.trueplookpanya.com

www.trueplookpanya.com

www.trueplookpanya.com

จำนวนผู้ชม

วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ



เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์




สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นเจ้าฟ้าผู้ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาการหลายแขนง ทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ดนตรี และงานช่าง พระองค์มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับหม่อมเจ้าหญิงพรรณราย ประสูติที่ตำหนักในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖ ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนคะเด็ตทหาร จากนั้นผนวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร หลังจากนั้นทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ และราชประเพณี



พระองค์เจ้าจิตรเจริญทรงผนวชเป็นพระภิกษุใน พ.ศ. ๒๔๒๗ ครั้นลาผนวชแล้ว ทรงรัชราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระสติปัญญารอบรู้ เป็นที่วางพระราชหฤทัยจนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญ อยู่หลายหน่วยงานเพื่อวางรากฐานในการบริหารราชการให้มั่นคง ทั้งกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงพระคลัง และกระทรวงวัง



ใน พ.ศ. 2452 ทรงกราบบังคมลาออกจากราชการ เนื่องจากประชวร ด้วยโรคพระหทัยโต ทรงปลูกตำหนักอยู่ที่คลองเตย และเรียกตำหนักนี้ว่า บ้านปลายเนิน ครั้นเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ และโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงทรงพ้นจากตำแหน่ง
ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในบั้นปลายพระชนม์ทรงประทับที่บ้านปลายเนินจนสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ พระชันษา ๘๓ ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล จิตรพงศ์

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศนุวัดติวงศ์ ทรงมีพระปรีชาสามารถในงานช่างหลายแขนง ได้ทรงงานออกแบบไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งงานภาพเขียนในวรรณคดี ภาพประดับผนัง พระราชลัญจกรและตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตาลปัตร ตลอดจนสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เช่น พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระอุโบสถวัดราชาธิวาส พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ ฯลฯ ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านงานช่างนี้เอง ทำให้ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม



นอกจากนี้ยังทรงพระปรีชาสามารทางด้านดนตรี ทรงพระนิพนธ์เพลงเขมรไทรโยค เพลงตับนิทราชาคริต เพลงตับจูล่ง ฯลฯ ส่วนด้านวรรณกรรมทรงมีลายพระหัตถ์โต้ตอบกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นเอกสารที่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและอักษรศาสตร์ ที่รู้จักกันทั่วไปในนาม สาส์นสมเด็จ ความที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาการหลายแขนงจึงมิได้เป็นบุคคลสำคัญของชาติไทยเท่านั้น หากแต่ทรงเป็นบุคคลที่ชาวโลกพึงรู้จัก โดยใน พ.ศ. ๒๕๐๖ อันเป็นวาระครบรอบร้อยปีแห่งวันประสูติ ยูเนสโกได้ประกาศให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกพระองค์หนึ่ง



ขรัวอินโข่ง



ขรัวอินโข่ง เป็นชื่อเรียกพระอาจารย์อิน ซึ่งเป็นจิตรกรในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขรัวอินโข่งเป็นชาวบางจาน จังหวัดเพชรบุรี บวชอยู่จนตลอดชีวิตที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) กรุงเทพฯ การที่ท่านบวชมานานจึงเรียกว่า ขรัว ส่วนคำว่า โข่ง นั้นเกิดจากท่านบวชเป็นเณรอยู่นานจนใคร ๆ พากันเรียกว่า อินโข่ง ซึ่งคำว่า โข่ง หรือโค่ง หมายถึง ใหญ่หรือโตเกินวัยนั่นเอง

ขรัวอินโข่ง เป็นช่างเขียนไทยคนแรกที่มีความรู้ในการเขียนภาพทั้งแบบไทยที่นิยมเขียนกันมาแต่โบราณ และทั้งแบบตะวันตกด้วย นับเป็นจิตรกรคนแรกของไทยที่มีพัฒนาการเขียนรูปจิตรกรรมฝาผนังโดยการนำทฤษฎีการเขียนภาพแบบสามมิติแบบตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในงานจิตรกรรมของไทยในยุคนั้น ภาพต่าง ๆ ที่ขรัวอินโข่งเขียนจึงมีแสง เงา มีความลึกและเหมือนจริง



ภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดย ขรัวอินโข่ง



ผลงานของขรัวอินโข่งเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก เคยโปรดเกล้าฯ ให้เขียนรูป

ต่างๆ ตามแนวตะวันตกไว้ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นภาพเขียนแรก ๆ ของขรัวอินโข่ง นอกจากนั้นมีภาพเหมือนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่หอพระราชกรมานุสรณ์



ภาพของขรัวอินโข่งเท่าที่มีปรากฏหลักฐานและมีการกล่าวอ้างถึง อาทิ ภาพเขียนชาดก เรื่องพระยาช้างเผือก ที่ผนังพระอุโบสถ และภาพสุภาษิตที่บานแผละ หน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในหอพระราชพงศานุสรณ์ในพระบรมมหาราชวัง ภาพปริศนาธรรมที่ผนังพระอุโบสถวัดบรมนิวาส ภาพพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ฯลฯ





การเขียนภาพแบบตะวันตก



ที่ใช้แสงและเงาสร้างเป็นภาพ 3 มิติ



ภาพเขียนจากฝีมือขรัวอินโข่งเหล่านี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่น แปลกตา ใช้สีเข้มและสีอ่อน แตกต่างจากงานจิตรกรรมที่เคยเขียนกันมาในยุคนั้น ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของงานจิตรกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เรียกกันว่า จิตรกรรมสกุลช่างขรัวอินโข่ง ที่เป็นต้นกำเนิดของงานจิตรกรรมไทยในยุคต่อ ๆ มา






พระประดิษฐ์ไพเราะ
(มี ดุริยางกูร)


พระประดิษฐ์ไพเราะ เป็นครูดนตรีไทยคนสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าเกิดตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๑ คนทั่วไปมักเรียกท่านว่า ครูมีแขก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสืบประวัติไว้ว่า ครูปี่พาทย์ชื่อครูมีแขกนั้น คือเป็นเชื้อแขก ชื่อมี ครูมีแขกเป็นผู้เชี่ยวชาญคนตรีไทยเกือบทุกประเภท ทั้งยังแต่งเพลงด้วย เพลงที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ทยอยนอก ทยอยใน 3 ชั้น
ในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้านายหลายพระองค์รวบรวมคนหัดปี่พาทย์ขึ้นเล่นประชันวงกัน ครูมี ได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระประดิษฐ์ไพเราะ ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็ก

ได้ว่ากรมปี่พาทย์ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เป็นครูมโหรีของกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร นอกจากมีความสามารถในการเป่าปี่แล้ว ครูมีแขกยังชำนาญในการสีซอสามสาย โดยได้แต่งเพลงเดี่ยวเชิดนอกทางซอสามสายไว้ด้วย
ครูมีแขกถึงแก่กรรมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประมาณระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗ – ๒๔๒๑ ทิ้งไว้เพียงชื่อเสียง คุณงามความดี และคุณูปการอันมากล้นสำหรับวงดนตรีไทย








ดร.แดน บีช แบรดเลย์
(Dr.Dan Beach Bradley)


ดร.แดน บีช แบรดเลย์ ชาวไทยเรียกกันว่า หมอบรัดเลย์ หรือ ปลัดเล เป็นชาวนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕ หมดบรัดเลย์เดินทางเข้ามายังสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ โดยพักอาศัยอยู่กับมิชชันนารี ชื่อ จอห์นสัน ที่วัดเกาะ เมื่อเข้ามาอยู่เมืองไทย ในตอนแรกหมอบรัดเลย์เปิดโอสถศาลาขึ้นที่ข้างใต้วัดเกาะ รับรักษาโรคให้แก่ชาวบ้านแถวนั้น พร้อมทั้งสอนศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวจีนที่อยู่ในเมืองไทย ส่วนซาราห์ ภรรยาของหมอเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ


ต่อมาหมอบรัดเลย์ย้ายไปอยู่แถวโบสถ์วัดซางตาครูส ขยายกิจการจากรับรักษาโรคเป็นโรงพิมพ์ โดยรับพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับศาสนาคริสต์แจก และพิมพ์ประกาศของทางราชการ เรื่องห้ามนำฝิ่นเข้ามาในประเทศสยาม เป็นฉบับแรก จำนวน ๙,๐๐๐ แผ่น เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๒ อีกด้วย กิจการโรงพิมพ์นี้นับเป็นประโยชน์สำหรับคนไทยมาก เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญซึ่งคนรุ่นหลังได้ศึกษาส่วนหนึ่งก็มาจากโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ นอกจากนี้ท่านได้ออกหนังสือพิมพ์รายปีฉบับหนึ่ง ชื่อว่า บางกอกคาเลนเดอร์ (Bangkok Calender) ต่อมาได้ออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์อีกฉบับหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ ชื่อว่า บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) นอกจากหนังสือพิมพ์แล้วยังได้พิมพ์หนังสือเล่มจำหน่ายอีกด้วย เช่น ไคเภ็ก ไซ่ฮั่น สามก๊ก เลียดก๊ก ห้องสิน ฯลฯ หนังสือของหมอบรัดเลย์นั้น เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ขุนนางและราชสำนัก โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่ลงบทความแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง


นอกจากงานด้านโรงพิมพ์ที่หมอบรัดเลย์เข้ามาบุกเบิกและพัฒนาให้วงการสิ่งพิมพ์ไทยแล้ว งานด้านการแพทย์และด้านสาธารณสุขที่ท่านทำไว้ก็มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หมอบรัดเลย์นับว่าเป็นหมอฝรั่งคนแรกที่ได้นำเอาหลักวิชาแพทย์สมัยใหม่เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย มีการผ่าตัดและช่วยรักษาโรคต่างๆ โดยใช้ยาแผนใหม่ ซึ่งช่วยให้คนไข้หายป่วยอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญที่สุด คือ การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ



ด้วยคุณงามความดีที่หมอบรัดเลย์มีต่อแผ่นดินไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พวกมิชชันนารีและหมอบรัดเลย์เช่าที่หลังป้อมวิไชยประสิทธิ์อยู่จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าจนกระทั่งหมอบรัดเลย์ถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ รวมอายุได้ ๗๑ ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น